
มัสยิดการาหมาด
มัสยิดการาหมาด(บ้านหัวทะเล) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโบราณสถานที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช คนมุสลิมศรัทธาในมัสยิดและตัวผู้นำ มัสยิดเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม
ประวัติความเป็นมาของมัสยิดการาหมาด (บ้านหัวทะเล)
โต๊ะวานเต๊ะห์และลูกหลานได้อพยพมาจากประเทศมาเลเซีย เพื่อมาอยู่ที่ประเทศไทยหลายแห่งในภาคใต้ของไทย มากันหลายเผ่าพันธุ์ อาทิเช่น ไทยพุทธ, จีน, อิสลาม ต่อมาโต๊ะวานเต้ะห์ก็ได้เสาะหามาเรื่อย ๆ ในที่สุดเมื่อมาถึงที่บ้านหัวทะเล พวกท่านก็ได้มาพบว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะสำหรับตั้งถิ่นฐานเพราะน้ำก็งาม การทำมาหากินไม่ยาก เลยคิดสร้างบ้าน และอาคารสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหลังเล็ก ๆ เรียกว่า บาลาย ท่านก็ได้สอนอัลกุรอ่านและวิชาอื่น ๆ อยู่ได้ประมาณ ๕๐ ปี บาลายดังกล่าวได้ทรุดโทรมลง ต่อมาไม่นานโต๊ะวานเต๊ะห์ก็ได้สิ้นชีวิตลง สมัยนั้นนายอาหลีเป็นอีหม่าม ส่วนโต๊ะวานเต๊ะห์เป็นคอเต็บ ส่วนบิหลั่นก็สลับกันเป็น เพราะสมัยนั้นไม่มีคนที่จะดำรงตำแหน่งนั้นได้ อยู่ต่อมาอีหม่ามเหม เลิศวงหัส ดำรงตำแหน่ง ต่อมาท่านก็คิดสร้างบาลายอีกหลังหนึ่งแทนหลังเก่า ต่อมาท่านก็ได้เสียชีวิตลง นายสหมาน กายแก้ว ก็ดำรงตำแหน่งเป็นอีหม่ามคนต่อมา ประชากรก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่านก็ได้คิดก่อสร้างอาคารมัสยิดขึ้นหลังหนึ่ง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สมัยนั้นนายอาหลี วัฒนารถ เป็นผู้นำทางศาสนาและเป็นนายช่างก่อสร้างด้วย มัสยิดหลังดังกล่าวได้ทำการก่อสร้างกันเอง มัสยิดหลังนี้มีอายุราวประมาณ ๑๖๐ ปี มีอีหม่ามอยู่ ๙ คน ได้แก่ ๑.ฮัจยีอิดรัส ปัตตานี ๒.นายอีสว ระห่างภัย ๓.ดลรอหมาน ระห่างภัย ๔.ฮัจยีอัซอารีย์ ระห่างภัย ๕.มะอีหมาน ระห่างภัย ๖. ฮัจยีโดบ สบู่มาท ๗. ฮัจยีหนอ วัฒนารถ ๘.ฮัจยีสุเทพ ศรีเจริญ ๙.ฮัจยีสุกรี ชายคีรี หลังจากนั้นมัสยิดก็ได้ทรุดโทรมลง อีหม่ามคนปัจจุบันก็คือ ฮีหม่ามบิดีน พยายาม เป็นคนที่ ๑๔ และคณะกรรมการได้คิดก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๕ เมตร เวลา ๐๙.๐๕ น. นับตั้งแต่โต๊ะวานเต๊ะห์มาจนถึงบัดนี้ประมาณ ๒๗๗ ปี รวมอีหม่าม ๑๔ ท่าน หลังจากโต๊ะวานเต๊ะห์เสียชีวิตลงแล้วได้ตั้งชื่อว่ามัสยิดการาหมาดบ้านหัวทะเล
ประวัติอัลกุรอ่านที่เขียนด้วยมือมีอยู่ ๒ เล่ม ซึ่งโต๊ะวานเต๊ะห์ได้นำมาจากประเทศมาเลเซีย เพื่อมาสอนลูกหลาน อัลกุรอ่านเล่มหนึ่ง ท่านมีอายุมากแล้วก็ได้มอบให้กับญาติผู้ใกล้ชิดคือ นางสเปียะ ต่อมานางสเปียะก็ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านไม้หลา ก็ได้มอบอัลกุรอ่านเล่มดังกล่าวให้กับนางตาลีเซ๊าะ ซึ่งเป็นบุตร ต่อมานางตาลีเซ๊าะก็มีอายุมากแล้วก็ได้มอบให้กับปะจิ คือนายแหยม วัฒนารถ ให้เอาไปไว้ที่มัสยิด อัลกุรอ่านเล่มดังกล่าวตกเป็นมรดกของมัสยิด ไม่ใช่ของคนหนึ่งคนใด
โต๊ะการาหมาด (โต๊ะวานเต๊ะห์)มีลักษณะ สูงประมาณ ๑๗๐ ซม. ผิวขาวแดง ดวงตาสีขาว ผมสีดำแดง โต๊ะวานเต๋ะห์ไม่มีบุตร
บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
ผู้ถ่ายทอดประวัติ ฮัจยีเหม วัฒนารถ และฮัจยีหนอ วัฒนารถ